การตรวจระบบไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการความปลอดภัยในโรงงาน ซึ่งเป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่ของฝ่ายวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นไปตามกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไฟฟฟ้าในโรงงาน พ.ศ. 2550 และตามกฎหมายของกระทรวงแรงงาน ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558 งานตรวจสอบและซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าเป็นหัวใจสำคัญของระบบการผลิต และสามารถใช้งานได้ยาวนาน และมีความเชื่อถือได้ งานบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าที่ดีคือการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน โดยหมั่นตรวจสอบสภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทราบว่าระบบหรืออุปกรณ์มีร่องรอยการเสื่อมสภาพหรือไม่ มีสภาพที่ต้องการการบำรุงรักษา
สายไฟฟ้า Electrical Cable
1. สายไฟฟ้าแรงดันต่ำ (Low Voltage Power Cable)
1.1 สาย THW
1.2 สาย VAF
1.3 สาย VCT
1.4 สาย NYY
2. สายไฟฟ้าแรงดันสูง (High Voltage Power Cable)
2.1 สายเปลือย
2.2 สายหุ้มฉนวน
3. สายไฟฟ้าที่ผลิตตามมาตรฐานอื่น
หมายถึง สายไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตตามมาตรฐาน มอก 11-2531 จึงเป็นสายไฟฟ้าทองแดง ที่หุ้มฉนวนชนิดอื่น ที่นอกเหนือไปจากฉนวนชนิด PVC เช่น ครอสลิงค์โพลีเอททีลีน (Cross-Linked Polyethylene ) นิยมเขียนเป็นอักษรย่อว่า XLPE มีคุณสมบัติพิเศษคือ ทนอุณหภูมิได้สูง และมีความแข็งทนต่อแรงเสียดสีได้ดี สายที่ผลิตตามมาตรฐาน JIS C-3606 เป็นสายชนิดทนแรงดัน 600 V เป็นตัวนำทองแดง อุณหภูมิใช้งานของฉนวน 90 องศาเซลเซียส
สายไฟฟ้าแรงดันต่ำ (Low Voltage Power Cable)
เป็นสายไฟที่ใช้กับแรงดันไม่เกิน 750 V. เป็นสายหุ้มฉนวน ทำด้วยทองแดงหรืออลูมิเนียม โดยทั่วไปเป็นสายทองแดงสายขนาดเล็กจะเป็นตัวนำเดี่ยว แต่สายขนาดใหญ่เป็นตัวนำตีเกลียว วัสดุฉนวนที่ใช้กับสายแรงดันต่ำคือ Polyvinyl Chloride (PVC) และ Cross-Linked Polyethylene (XLPE)
สาย THW
สายไฟฟ้าตาม มอก.11-2531เรียกว่า สายTHW เป็นสายไฟฟ้าชนิดทนแรงดัน 750 V เป็นสายเดี่ยว ใช้ในวงจรไฟฟ้า 3 phase ได้ ปกติจะเดินร้อยในท่อร้อยสาย ชื่อ THW เป็นชื่อตามมาตรฐานอเมริกัน ซึ่งเป็นสายชนิดทนแรงดัน 600 V อุณหภูมิใช้งานที่ 75 องศาเซลเซียส แต่ในประเทศไทยนิยม เรียกสายที่ผลิตตาม มอก. 11 -2531 ว่า สาย THW
สาย VAF
สายไฟตาม มอก.11-2531 เรียกว่า สายVAF เป็นสายชนิด ทนแรงดัน 300 V มีทั้งชนิดที่เป็นสายเดี่ยว สายคู่ และที่มีสายดินอยู่ด้วย มีชนิด 2 แกน หรือ 3 แกน เป็นสายแบน ตัวนำนอกจากจะมีฉนวนหุ้ม แล้วยังมีเปลือกหุ้มอีกชั้นหนึ่ง สายคู่จะนิยมรัดด้วยเข็มขัดรัดสาย(Clip) ใช้ในบ้านอยู่อาศัยทั่วไป สายชนิดนี้ห้ามใช้ในวงจร 3 phase ที่มีแรงดัน 380 V (ในระบบ 3 phase แต่แยกไปใช้งานเป็นแบบ 1 phase แรงดัน 220 V. จะใช้ได้)
สาย VCT
สายไฟฟ้าตาม มอก.11 – 2531 เรียกว่า สายVCT เป็นสายกลมมี ทั้งชนิดหนึ่งแกน 2 แกน 3แกนและ 4 แกนทนแรงดันที่ 750 V. มีฉนวนและเปลือกเช่นกัน มีข้อพิเศษกว่าก็คือตัวนำจะประกอบไปด้วย ทองแดงฝอยเส้นเล็ก ๆ ทำให้มีข้อดีคือ อ่อนตัวและทนต่อสภาพการสั่นสะเทือนได้ดี เหมาะที่จะใช้เป็นสายเดินเข้าเครื่องจักรที่มีการสั่นสะเทือนขณะใช้งาน สายชนิดนี้ ใช้งานได้ทั่วไปเหมือนสายชนิด NYY สาย VCT มีหลายแบบตามรูปทรงโดยแบ่งได้ทั้งแบบ VCT – GRD ซึ่งมี 2 แกน 3 แกนและ 4 แกนและมีสายดินเดินร่วมไปด้วยอีกเส้นหนึ่งเพื่อให้เหมาะสำหรับใช้เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องต่อลงดิน
สาย NYY
สายไฟฟ้าตาม มอก.11-2531 เรียกว่าสายNYY มีทั้งชนิดแกนเดียว และหลายแกนสายหลายแกน ก็จะเป็นสายชนิดกลมเช่นกัน สายชนิดนี้ทนแรงดันที่ 750 V. มี ความทนต่อสภาพแวดล้อม เพราะมีเปลือกหุ้มอีกชั้นหนึ่ง บางทีเรียกว่าเป็นสายฉนวน 3 ชั้น ความจริงแล้วสายชนิดนี้มีฉนวนชั้นเดียว อีกสองชั้นที่เหลือเป็นเปลือก เปลือกชั้นในทำหน้าที่เป็นแบบ (Form) ให้สายแต่ละแกนที่ตีเกลียวเข้าด้วยกันมีลักษณะกลม แล้วจึงมีเปลือกนอกหุ้ม อีกชั้นหนึ่งทำหน้าที่ป้องกันความเสียหายทางกายภาพ
สายไฟฟ้าแรงดันสูง (High Voltage Power Cable)
เป็นสายตีเกลียวมีขนาดใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ สายเปลือย และสายหุ้มฉนวน
สายเปลือย
1.1 สายอลูมิเนียมตีเกลียวเปลือย (AAC)
1.2 สายอลูมิเนียมผสม (AAAC)
1.3 สายอลูมิเนียมแกนเหล็ก (ACSR)
สายหุ้มฉนวน
2.1 สาย Partial Insulated Cable (PIC)
2.2 สาย Space Aerial Cable (SAC)
2.3 สาย Preassembly Aerial Cable
2.4 สาย Cross-linked Polyethylene (XLPE)